วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

การเลี้ยงผี บูชาเทวดา



การเลี้ยงผี บูชาเทวดา
ประเพณีการเลี้ยงผี, บูชาเทวดา มีอยู่ในวัฒนธรรมไทย ที่มักถูกมองว่างมงาย แต่สำหรับผู้ที่ศึกษาเรื่องจิตวิญญาณอย่างจริงจังกลับพบต่างไป ดังนี้ การเลี้ยงผี คือ การไปหาผี หรือจิตวิญญาณที่ไม่สูงนักมาเลี้ยงเพื่อช่วงใช้ ปกติ คนไทยโบราณจะเลี้ยงผีอย่างแรกคือ ผีบรรพบุรุษ เพราะหาง่าย ไม่ต้องลำบาก ญาติที่ตายไปยังห่วงเราอยู่ก็จะอยู่ให้เราเลี้ยงดูและช่วยเหลือเราต่อไป สำหรับคนที่มีอาคมมากขึ้น ก็จะไปหาผีมาเลี้ยง เช่น ผีกุมาร, ผีลูกกรอก, ผีพราย, ผีตายโหง ฯลฯ ตามแต่กำลังอาคมจะเลี้ยงได้

การเลี้ยงผี มีสองลักษณะ คือ ลักษณะที่ปล่อยตามอิสระ และลักษณะที่ผูกมัดเอาไว้ที่ใดที่หนึ่ง พวกที่ต้องผูกไว้มักดุร้าย เช่น ผีพราย พวกที่ปล่อยอิสระเพราะไม่ดุร้ายเช่น พวกผีบรรพบุรุษ สำหรับพวกที่ถูกผูกมัดไว้จะผูกมัดไว้ตลอดเวลาไม่ได้ เมื่อจะใช้งานก็จะเอาออกมา เรียกออกมาจากที่กักขังนั้น
(ให้สังเกตคนเลี้ยงผีประเภทนี้ จะทำอะไรบางอย่างไว้ตามต้นไม้ใหญ่ที่เปลี่ยวๆ เช่น ป่าช้า หรือคนไม่ค่อยเข้าไปคือ เขาผูกผีไว้ที่ต้นไม้นั้น) นอกจากนี้ ยังต้องปล่อยผีออกมาเพื่อไม่ให้ผีได้รับความกดดันมากจนคุมไม่ได้ เรียกว่า “ปล่อยของ” ซึ่งมักจะตรงกับวันเสาร์ห้า
นอกจากนี้ ยังมีวันอื่นๆ แล้วแต่ครูบาอาจารย์จะกำหนดอีกด้วย การปล่อยของหรือปล่อยผีนี้ จะมีอยู่เป็นรอบๆ ระยะ เมื่อปล่อยออกมาทีไร ผีจะหากินเอง และทำร้ายผู้คนทำให้ผู้คนเจ็บป่วยและต้องไปหาคนรักษาให้ ซึ่งผู้ที่จะรักษาหายได้ก็มีแต่เจ้าของอย่างเดียว ดังนั้น คนรักษากับคนทำก็คือคนๆ เดียวกัน มีสุภาษิตว่า “วัวใคร เข้าคอกคนนั้น” ผีก็เหมือนกันอย่างนั้น ออกมาจากไหน ก็กลับที่เดิม

ที่มาของผี
1. ผีบรรพบุรุษเราเองที่ตายลงไปแต่ยังไม่ไปเกิดยังภพภูมิอื่น เช่น ผีปู่ย่า-ตายาย
2. ผีที่ตกทอดสืบกันมาจากปู่ย่าตายายเป็นมรดกให้เลี้ยงต่อ เช่น ผีฟ้าพญาแถน
3. ผีที่ได้จากการไปหา ไปทำมา ด้วยอาคมของผู้เรียนคุณไสย เช่น ผีพราย, กุมาร
4. ผีที่ได้จากคนใกล้ตาย เรียกว่า “ผีฝาก” หรือฝากผีฝากไข้ คนใกล้ตายจะให้ผีมา
5. ผีที่ได้จากการปลดปล่อยวิญญาณสัมภเวสีที่ตกค้างยังที่ต่างๆ ตามมาอยู่ด้วย
การเลี้ยงผี นี้ข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องระวังไม่ให้ “ผีเข้าตัวเอง” ผีทุกชนิดอยากได้ร่างมนุษย์มาก เมื่อเลี้ยงไม่ระวังมันจะเข้าตัวเอง แล้วทำให้มนุษย์ผู้นั้นมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ถึงขั้นบ้าหรือตายได้ ตามแต่กรรมของผีที่ทำมา ทำอย่างไรมา มนุษย์ก็จะได้รับกรรมนั้นร่วมไปด้วย ยกเว้นมนุษย์ที่ปฏิบัติธรรมขั้นสูงมากๆ ไม่ต้องกลัวเลย เพราะสามารถโปรดผีให้หลุดพ้นจากกรรมและอบายภูมิชั้นต่ำได้ ผีจะกลายเป็น “เจตภูต” หรือเทวดาประจำตัวต่อไป แบบนี้ ผีที่ไม่ค่อยจะดี กลายเป็นผีที่ดี และนำบุญบารมีมาเสริมตัวผู้เลี้ยงได้ด้วย



การบูชาเทวดา คือ พิธีกรรมในการแสดงความศรัทธานับถือต่อเทวดา เพื่อให้เทวดาช่วยเหลือ หรืออวยพรให้มีความเจริญรุ่งเรือง ปกติจะทำมากในศาสนาพราหมณ์ แต่ในประเทศไทยก็มีอย่างแพร่หลายมาก การบูชาเซ่นสรวงเทวดา ถ้าทำแบบไม่รู้อะไรเลย คือ เป็นความหลง หรืออวิชชานั้น จะกราบไหว้อย่างไม่รู้ว่าตนไหว้อะไร เช่น ไปไหว้ตอไม้, ไปไหว้จอมปลวก ที่ไม่รู้เลยว่าที่เราไหว้นั้นเป็นอะไร แต่สำหรับพราหมณ์ที่เข้าใจ จะไหว้อย่างเฉพาะเจาะจงและมีความรู้ในเทวดาที่ไหว้นั้นๆ อย่างดีเช่น การบูชาพระพรหม, บูชาพระอินทร์การบูชานี้ จึงต่างจากการเลี้ยงผี เพราะการเลี้ยงผี ผีจะอยู่ด้วย และต้องดูแลตลอดแต่การบูชาเทวดานั้น เทวดาเป็นผู้มีบุญอยู่แล้ว ไม่ต้องเลี้ยงดูก็ได้ การเซ่นสรวงสังเวยด้วยอาหารและเครื่องไหว้ต่างๆ จึงเป็นเพียงเครื่องแสดงถึงความศรัทธาเพื่อเอาใจเทวดาเท่านั้น ก็มีการบูชาที่แตกต่างกันออกไป ทั้งรูปแบบ พิธีกรรมและเทวดาที่จะบูชา แต่ละองค์มีกิจ มีหน้าที่ๆ แตกต่างกัน ผู้บูชาจึงต้องมีความเข้าใจก่อนที่จะบูชา จึงจะสำเร็จสมปรารถนา

ที่มาของเทวดา
1. เทวดาที่อยู่ชั้นเดียวกันมนุษย์ คือ สวรรค์ชั้นที่หนึ่ง เช่น พระภูมิ, แม่ย่านาง
2. เทวดาชั้นสูงขึ้นไปบนสวรรค์ทั้งหกชั้น เช่น พระอินทร์, พระสยามเทวาธิราช
3. จิตวิญญาณจากพรหมโลก ซึ่งไม่เรียกว่าเป็นเทวดา เช่น พระพรหม, พระศิวะ
4. จิตวิญญาณที่สำเร็จธรรมหรือนิพพานแล้ว เช่น พระพุทธเจ้า, พระอรหันตเจ้า

การบูชาเทวดาจะทำเป็นพิธีเป็นครั้งๆ แล้วจบกันไปแต่การเลี้ยงผีจะเลี้ยงดูอยู่ตลอดเวลา นี่คือ ข้อแตกต่างกันของการเลี้ยงผีและการบูชาเทวดา เช่น เมื่อเกิดภัยแล้งมากๆ มนุษย์อาจบูชาเทวดาบางองค์ เพื่อขอให้มีฝนตกลงมาบ้าง การบูชาเทวดาจึงมักดูเป็นพิธีใหญ่



วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

การทรงเจ้า



การทรงเจ้า
การทรงเจ้าจึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในชนบทเป็นการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย เคารพในสิ่งที่บรรพบุรุษได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เป็นศรัทธาที่ไร้ตัวตน ซึ่งต่อให้กระแสของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรแต่ในจิตใจของชาวบ้านแห่งนี้ก็ ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมแน่นอนหากจะถามว่าการทรงเจ้าเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใด คงยากจะหาหลักฐานมีอ้างอิงได้แต่จากการสังเกตและพบเห็น มีการทรงเจ้าอยู่เกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่แถบจังหวัดต่าง ๆ ของภาคเหนือมีการทรงเจ้ากันอยู่มากมาย การทรงเจ้าของคนภาคเหนือ
ในอดีตเป็นการทรงเฉพาะในช่วงเวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อนหรือเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะ มีพึ่งพาเจ้าทรงให้ช่วยรักษา รวมถึงการตรวจสอบดวงชะตาของหมู่บ้าน ซึ่งการทรงเจ้าของคนภาคเหนือนั้นมีการทรงอยู่หลายเจ้า เช่น การทรงเจ้าของผีหม้อนึ่ง การทรงผีผ่าผีเขา การทรงผีปู่ย่า การทรงผีเจ้าพระยา โดยมีความเชื่อพื้นฐานก็คือ ต้องการให้บรรดาเจ้าทรงต่าง ๆ ช่วยเหลือในยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเกิดเหตุเภตภัยใดๆ
ในหมู่บ้าน
การหาเหตุผลมารองรับถึงความเชื่อดังกล่าวจึงเป็นเรื่องยาก หลายคนอาจมองว่าการทรงเจ้าเป็นเรื่องโกหก งมงาย แต่ขณะที่อีกหลายคนถือเอาการทรงเจ้าเป็นที่พึ่งทางใจแห่งสุดท้ายของพวกเขา
การเป็นม้าขี่ที่นั่งนั้น เป็นได้อยู่สามทางด้วยกันคือ
1. การสืบเป็น กล่าวคือ สืบกันตามสายเลือดกันลงมา เช่น ทวดเป็น แล้วสืบมาที่ ยาย และอาจสืบไปที่หลาน เรื่อยไป หรืออาจบอกได้ว่า ตระกูลนี้ได้ถูกมอบหมายให้เป็นร่างทรงของเทพ
2. การถูกเลือกให้เป็น หรือ ถูกบังคับ การนี้เทพ ท่านเป็นผู้เลือกม้าเองก็จะทำให้ม้าป่วยบ้าง มีอาการบางอย่างบ้าง จนต้องรับเป็นม้าให้ท่าน แต่ไม่รับอาจถึงตาย
3. การรับเป็น การนี้ ก็สุดแล้วแต่เทพ เช่น ยายเป็นม้าขี่ แล้วเสียชีวิตลง แต่ลูกหลาน อยากจะรับดูแล รับเลี้ยงบูชาต่อ ลูกหลานก็จะแต่งดาขันข้าวตอกดอกไม้ ยกขึ้นเหนือหัว กล่าวรับท่านอาจจะทำหลายคนก็ได้ ก็สุดแต่เทพท่านจะเลือกใครเป็นม้าต่อ



แต่อย่างไรก็ตาม การที่ใครจะเป็นม้าขี่ของเทพองค์ใดได้ ต้องมีชะตาต้องหรือสมพงษ์กัน อาจจะมีอดีตชาติร่วมกัน อีกอย่างคนเป็นม้าขี่ ต้องมีผมหอมประจำตัวซึ่งม้าขี่แต่ละคน จะมีกลิ่นหอมไม่เหมือนกัน เทพท่านจะจำกลิ่นหอมนั้นได้ ไม่ว่าม้าขี่จะอยู่ไหนท่านก็จะตามหาม้า และเข้าประทับร่างได้ หวังว่าคงจะเป็นความรู้ได้ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องนี้นะคะ

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

ขันครูล้านนา




ขันครูล้านนาเป็นภาชนะที่ใช้สำหรับการบรรจุของเพื่อใช้ในแง่ของความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ หรือใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ที่มีชื่อขันมากมายเรียกตามวิธีการใช้งานและวัตถุประสงค์ที่ใช้ทำขัน


การทำขัน นอกจากทำด้วยทองคำ เงินและทองแดงแล้วก็ยังมีด้วย ไม้จิง และสานด้วยไม้ไผ่ ทั้งนี้ ขัน ไม้ จิงนั้นจะทำให้ขึ้นรูปได้เรียบร้อยด้วยการเฆี่ยนหรือการกลึง ซึ่งการกลึงจากไม้จิงก็ไม่มีขึ้นตอนทำอะไรมาก แต่การสานมีขั้นตอนมากกว่า การสานส่วนมากจะสานด้วย ไม้ไผ่เรี้ย (อ่าน ” ไม้เฮี้ย ” ) เพราะเนื้อเหนียวกว่าไม้ไผ่ชนิดอื่น จะจักตอกให้บางกย่างไรก็ได้ ใบขันใช้วิธีสาน ส่วนตีนขันจะมีแบบครึ่งสานและแบบคาด ช่างบ้างคนจะใช้วิธีสาน โดยจะสานเป็นตัวในก่อนแล้วจึงคาดด้วยตอกทำลวดลายอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นขันดอกที่ใช้ตามวัดจะมีขนาดใหญ่และสวยงาม ส่วนขันที่สานด้วยตอกไม้ไผ่เรี้ยจะมี 2 ขนาด คือ ตอกตัวยืนมีขนาดใหญ่ ตอกตัวสานมีขนาดเล็ก เมื่อได้ใบขันแล้วก็จะคาดเคียน แอวขัน คือแอวของพานและตีนขัน คือใช้ตอกขนาด ๐.๕-๑.๐ เซนติเมตร พันทับกันเป็นวงกลมเหลื่อมให้ขึ้นรูปแล้วทาด้วยยางไม้ หรือน้ำรัก เมื่อทั้งตัวขันและแอวขันเสร็จแล้วจึงนำส่วนตีนมาติดเข้ากับใบขันโดยใช้น้ำรัก เมื่อรักแห้งดแล้วทาด้วยน้ำรัก เมื่อรักแห้งดีแล้วทาด้วยน้ำรักผสมหาง (ชาด) ให้เรียบ แล้วจึงตกแต่งลายประดับด้วยชาดอีกทีหนึ่งให้เป็นลวดลายต่างๆ ตามที่ต้องการ

ขันหรือพาน เป็นภาชนะที่ใช้บรรจุเครื่องคำนับต่างๆนี้จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กแล้วแต่ปริมาณของเครื่องคำนับที่บรรจุนั้น ขัน อาจเป็น ขันแดง หรือพานที่ทำด้วยไม้ไผ่ทาชาดซึ้งมีขาดต่างๆ อาจเป็น ขันสี้ หรือ ขันตีนถี่ คือ พานที่ส่วนลำตัวเป็นซี่ไม้กลึงเรียงรอบเพื่อรับน้ำหนักทั้งหมด และหากไม่มีขันแบบกว่า ก็อาจใช้พานแบบใหม่ที่ทำด้วยทองเหลืองหรืออลูมิเนียม แม้กระทั่งกะละมังก็อาจนำมาใช้ได้เช่นกันคำว่า ขัน ของ ล้านนายังรวมเรียกลวดลายทางสถาปัตยกรรมหรือการทอผ้าในส่วนที่มีรูปคล้ายกับ พานว่าขันได้อีกด้วย เช่น ส่วนของเจดีย์ที่ฐานผายเอวคอด และมีส่วนบานขึ้นมาต่อรับนั้น ก็เรียกส่วนนั้นว่าขัน และรวดลายในผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งทอให้มีลักษณะละม้ายพานก็เรียกส่วนนั้นว่าขันอีกด้วยเช่นกัน

ขัน อันหมายถึงชุดเครื่องคารวะสำหรับพิธีต่างๆนั้นพบว่ามีระดับต่างๆ ตามจำนวนชุดของเครื่องคารวะ คือ ขันเครื่อง ๔ , ๘ , ๑๒ , ๑๖ , ๒๔ , ๓๖ และ ขันเครื่อง ๑๐๘ ซึ่งเมื่อศึกษาจากรายละเอียดแล้วเห็นว่า คำว่า ขัน ในกรณีดังกล่าว มีความหมายเหมือนกับสะทวง (อ่านว่า “ สะตวง ” ) หรือกระบะบัตรพลีที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ทั่วไปนั้นเอง ขันครู เป็น ภาชนะใส่ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องเคารพ ครูบาอาจารย์ที่เคยได้สอนวิชาความรู้ให้ หรือเป็นขันขึ้นครูในเวลาที่ไปสมัครเป็นลูกศิษย์หมอคาถาอาคม เช่น ขึ้นครูในการสักหรือขึ้นครูในการถ่ายทอดรับคาถาอาคมต่างๆ เป็นต้น ขันในประเภทนี้มีรูปทรงกลม ปากผาย มีเอวคอดเป็นขยัก ส่วนตีน ผายออก ใบขันสานด้วยไม้ไผ่ ส่านขาและตีนพันม้วนด้วยตอกทารักลงหางเป็นสีน้ำตาลหรือสีแดง


สิ่งที่ใส่ในขันครู ประกอบด้วยดอกไม้ธูปเทียนอย่างละ ๖ มีข้าวตอกพองาม นอกจากนั้นจะมีเงินบูชาครูตามกำหนด เช่น ๖ บาท ๑๒ บาท ๑๐๘ บาท ๑ , ๓๐๐ บาท โดยมากขันครูนี้จะจัดให้พ่อหมอหรือปู่อาจารย์ก่อนทำพิธีสมัย ปัจจุบันนิยมใส่ขันครูที่ว่างไว้ และเพิ่มอีกส่วนหนึ่งเป็นการสัมมนาคุณอีก กรณีหนึ่ง บางตำราใช้ขันธ์ครู เป็นขันธ์ 5 มีเครื่องมงคล 5 อย่าง คือ ดอกไม้ขาว ธูปขาว เทียนขาว ผ้าขาว กรวยใบตอง
หนึ่งขันประกอบด้วยผ้าขาว และกรวยดอกไม้ 5 กรวย เทียนใส่กรวยละ 1 คู่ ธูปใส่กรวยละ 3 ดอก โดยขันธ์ 5 นี้จะเป็นตัวแทนขันธ์ทั้ง 5 คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
ขันครู เป็นเสมือนตัวแทนครู จะเป็นสายไหนก็ต้องมีขันครู สายฤาษี สายล้านนา สายเขมร สายใต้ สายผี สายภูต สายพราย สายเทพ มักมีพานครูตั้งบูชาไว้ อัญเชิญครูบาอาจารย์มาสถิตอยู่ เพื่อจะใช้เพิ่มพลังวิชาอาคมและรักษาวิชาอาคม ทั้งยังปกป้องรักษาตัวผู้เป็นศิษย์อีกด้วย ถ้าไม่มีขันครูจะทำให้การประกอบพิธีต่างๆไม่สำเร็จ จะเกิดอาถรรพ์และขึด หากใช้อาคมเกินตัวอาจจะทำให้ของเข้าตัวถึงตายได้ แต่ถ้ามีขันครูแล้วรักษาไม่ดีของก็เข้าตัวได้เช่นกัน
ขันครูต้องตั้งไว้ที่สูงสุดของบ้านที่พักอาศัย ห้าวไว้ในที่ต่ำ หากจะโยกย้ายขันครูต้องห่อผ้าขาวก่อนทกครั้งและถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าย้ายขันครูเด็ดขาด ขันครูชั่วคราว คือขันชนิดเดียวกันกับขันตั้ง ขันครูในพิธีต่างๆ เช่นพิธีมงคล พิธีลงเสาเอก ขึ้นบ้านใหม่ ขึ้นครูอาจารย์วัด(มัคคธายก) พิธีแต่งงาน สู่ขวัญต่างๆ ทำขวัญนาค ส่วนงานอวมงคล เช่นพิธีศพสงสการ เป็นต้น ขันครูชั่วคราวนี้จะมีการลาขันเมื่อเสร็จงานเรียกว่า "ปลดขันตั้ง" จนชาวบ้านเอามาเรียกกันติดปากในวงเหล้า ขันครูถาวร เป็นขันแบบเดียวกับขันตั้ง แต่ไม่มีการลาขัน เป็นขันครูที่วางบูชาไว้ตลอดทั้งปี

ขันครูสำหรับผู้ต้องการจะเล่าเรียนวิชาคาถาอาคม โดยผู้ที่จะเรียนให้ทำพานครู ๑ พาน แล้วทำพิธีเลี้ยงครู ยกขันครู แล้วนำไปบูชา ตั้งเครื่องพลีกรรม น้ำดื่มและดอกไม้ ตามแต่ละสำนัก บางครั้งอาจใช้กำยาน ขันครูนี้จะเปลี่ยนได้เพียงปีละครั้ง ตามกำหนดของแต่ละสถานที่ เช่น วันพญาวัน ในช่วงสงกรานต์ เป็นต้น

๑. ขันน้อย แบ่งเป็น ขัน ๕ , ขัน ๘ , ขัน ๑๒ , ขัน ๑๖ , ขัน ๒๔ , ขัน ๒๘ , ขัน ๓๒
- ขัน ๕ นี้หมายถึง ขันศีล ๕ เป็นขันเบญศีลหรือศีล ๕
- ขัน ๘ นี้หมายถึง ขันศีล ๘ เป็นขันอุโบสถศีลหรือศีล ๘
- ขัน ๑๒ นี้หมายถึง ขันพ่อครู เป็นขันของผู้เป็นครูอาจารย์ลำดับชั้นต้น
- ขัน ๑๖ นี้หมายถึง ขันครูบูชาพระเจ้า ๑๖ พระองค์
- ขัน ๒๔ นี้หมายถึง ขันพ่อครูลำดับที่สอง เป็นขันของผู้เป็นครูอาจารย์ลำดับชั้นสูง
- ขัน ๒๘ นี้หมายถึง ขันครูบูชาพระเจ้า ๑๘ พระองค์
- ขัน ๓๒ นี้หมายถึง ขันพ่อครูลำดับที่สอง เป็นขันของผู้เป็นครูอาจารย์ลำดับชั้นสูง สูงกว่าขัน ๑๒
ขัน ๓๒ นี้ เป็นขันครูใหญ่ไหว้เทวดาทั้งสามโลก และอีกนัยหนึ่งคือ ขันอาการ ๓๒ หมายถึง รูปขันธ์ทั้ง ๓๒ ประการ

๒.ขันหลวง แบ่งเป็น ขัน ๑๐๘ , ขัน ๑๐๙ , ขัน ๒๒๗ , ขัน ๑๐๐๐ - ขัน ๑๐๘ , ๑๐๙ นี้หมายถึง ขันครูเครื่องใหญ่ เป็นอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมแกร่งกล้า ระดับบรมครู ระดับผู้อาวุโส ขั้นพระสงฆ์ที่มีวิชาแก่กล้า ขั้นเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์ - ขัน ๒๒๗ นี้หมายถึง ขันศีล ๒๒๗

ส่วนประกอบโดยทั่วไปที่ขาดไม่ได้คือ
- หมากแห้ง หมากหมื่น ผ้าขาว แทนครูที่ล่วงลับไปแล้ว
- ผ้าแดง แทนครูที่มีชีวิตอยู่
- กรวยดอกไม้ ทำตามจำนวนขันและดอกไม้ ตามแต่สำนักกำหนด
- กรวยพลู (สวยพลู) หมากแห้งใบพลูทำตามจำนวนขัน
- เครื่องดื่ม สายผีสาย ภูต พรายมักใช้เหล้า(สุราขาว สุราแดง) 1 ขวด
- น้ำผึ่ง 1 ขวด สำหรับสายเหล็กไหลจะขาดมิได้ - ข้าวเปลือก ข้าวสาร
- เบี้ยจั่น เบี้ยนาง ใส่ตามจำนวนขัน
- ของทนสิทธิ์ ของศักดิ์สิทธิ์หายาก เป้ง รูปปั้น ลูกแก้ว ประคำ อะไรก็ได้ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร ถ้าฝ่ายพฤติบาตจะมีขอช้าง เชือกคล้องช้าง
- เทียนสีต่างๆตามกำหนดไว้ หรือเทียนขี้ผึ่ง ใส่เป็นคู่หรือตามจำนวนขัน
- ข้าวตอก
- ช่อ คือ ฉัตรหรือธง
- พาน หรือ ขันโตก ไว้สำหรับใส่เครื่องมงคลทั้งหมดที่กล่าวมา

ฟ้อนผีเจ้านาย




การฟ้อนผีเจ้านาย หรือ ผีบ้านผีเมือง นี้คล้ายกับการ ฟ้อนผีมดผีเมง ทั้งการแต่งกายและดนตรี แต่จะไม่มีโหนผ้าเหมือน ผีเมง และไม่มีกิจกรรมการละเล่นเหมือนผีมด
สำหรับเครื่องสังเวยกับพิธีกรรมต่างๆ ก็คลาดเครื่องกันไปไม่มากนักการฟ้อนผีเจ้านาย เป็น การเลี้ยงผีหรือ ฟ้อนผีเพื่อสังเวยผีเทพหรือผีอารักษ์ซึ่งทำหน้าที่รักษาบ้าน เมือง มีประวัติความเป็นมาที่เก่งกล้า เช่น เจ้าพ่อประตูผาของลำปาง เจ้าหลังคำแดงของเชียงใหม่ ในการสังเวยผีดังกล่าวนี้จะกระทำที่
“ หอผี ” โดย ม้าขี่ หรือคนทรงจะนำเครื่องเซ่นต่างๆ ไปสังเวยแล้วจะเอาพานเครื่องคารวะไปเชิญเจ้าพ่อที่หอผีให้ประทับทรงจากนั้น คนทรงก็จะแต่งตัวตามแบบที่เจ้าพ่อชอบ ออกไปฟ้อนที่หน้าหอผี
เครื่องแต่งตัวที่จัดเตรียมไว้มีผ้าโสร่งสีต่างๆ ทั้งลายตาหมากรุกและผ้าพื้น เสื้อผ่าอกแขนยาว ผ้าคาดเอว ผ้าโพกศีรษะและผ้าคล้องคอสีต่างๆ ในขณะเดียวกัน คนทรงของเทพเจ้าต่างๆ ที่ได้รับเชิญมาร่วมพิธีก็จะแต่งตัวแล้วออกไปร่วมฟ้อน
โดยมีวงดนตรี กลองเต่งถิ้ง ประโคมเสียงสนั่น
การเข้ามาประทับทรง ของผีเจ้านายนั้นเกิดจากในอดีตผีเจ้านายเป็นบุคคลที่เคยทำคุณงามความดี ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองหรือเป็นผู้บุกเบิกตั้งรกราก เป็นทัพหน้านำรบ ออกศึก ป้องกันบ้านเมือง
เช่น เจ้าพ่อประตูผา เจ้าพ่อขุนตาล เป็นผีที่มีคุณงามความดี เป็นที่น่ายกย่อง แต่ขณะที่มีชีวิตได้ทำกรรมอนัตริยกรรม คือ การฆ่าคน ฆ่าชีวิต ที่ไม่อาจจะกำหนดได้ พอตายไปก็ต้องเป็นวิญญาณที่จะต้องอาศัยมนุษย์เป็นสื่อ ที่จะทำให้ตนหลุดพ้น จากบ่วงกรรมที่ ทำไว้ เมื่อประทับทรงแล้วก็ต้องเลือกเอาคนที่มีวันเดือนปีเกิดเดียวกัน เป็นบุคคลที่ถูกให้เป็นสื่อ การที่ผีเจ้านายจะเลือก เอาใครเป็นร่างทรงผีเจ้านายจะต้องดูว่าบุคคลนั้นยอมหรือไม่ ถ้าไม่ยอมก็จะทำให้ยอม โดยการทำให้บุคคลนั้นป่วย ไม่สบายมีอันเป็นไปต่างๆจนทำ ให้เชื่อว่าจะเอามาเป็นร่างทรง ด้วยวิธีการต่างๆ การที่ผีเจ้านาย เลือกใครเป็นร่างทรง แล้วยังได้รับการทดลองต่างๆ หลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนมากจะให้ร่างทรงเข้าวัดถือศีล ทำสมาธิ เป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อม อารี และที่สำคัญจะต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะไม่โกหกหลอกลวง
การที่ผีเจ้านายจะเลือกใครเป็นร่างทรงผู้นั้นในอดีตชาติ เคยผูกพันกันหรือเป็นรากขวัญของผีเจ้านายหรือขวัญเดียวกัน การยอมรับของบุคคลที่ถูกเลือกแล้วว่า จะเอาเป็น ร่างทรงนั้นจะต้องผ่าหลายขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทางเหนือมักจะมีผีบรรพบุรุษอยู่แล้วคือ ผีต้นตระกูลสายผีมด ผีเม็ง ผีมดซอนเม็ง ผีเจ้านายจะต้องมีวิธีทำความสัมพันธ์กับผีบรรพบุรุษผู้เป็นเจ้าของบุคคลนั้นด้วย วิธีการหาอะไร มาแทนหรือการเลี้ยงผีปู่ย่าก่อนที่จะเอา บุคคลในตระกูลเป็นร่างทรง หรือวิธีอื่น เช่น ทอดผ้าป่าให้ผีปู่ย่า หรือวิธีอื่นๆ ต่างๆ ที่ผีบรรพบุรุษจะเจรจากับผีเจ้านาย
การที่บุคคลที่จะถูกคัดเลือกแล้วไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายจะถูกกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ที่ผีเจ้านายจะประทับ ทรง แต่จะออกมาในรูปของการเข้าฝันบอกให้ทำอะไรก่อนประทับทรง เดือน ปี
(ในบางราย) ก่อนจะรับเป็นร่างทรง อันดับแรกจะต้องรับขัน 3 ก่อน อันหมายถึง ไตรสรณะคมการสักการะคุณพระรัตนตรัย จากนั้นก็รับขัน 5 หมายถึง การสักการะบูชาคุณทั้ง 5 อันมี พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ คุณบิดาคุณมารดา หลังจากขึ้นขัน 3 และขัน 5 แล้ว บางรายอาจจะให้รักษาศีล ภาวนา ตามแต่เจตนาของผีเจ้านาย หลังจากรับขันได้พอประมาณจนกว่าผีเจ้านาย จะพอใจจนได้เวลากำหนดจึง รับขัน 12 ผีเจ้านายจะเป็นผู้บอกให้เลี้ยงผีครู หรือการเลี้ยงประจำปี (ประเพณี) เช่น อาจจะเป็นเดือน 6 เหนือ หรือ เดือน 9 เหนือ แล้วแต่เจ้านายจะกำหนดของเซ่นไหว้ขึ้นอยู่กับเจ้านายจะสังเวยอะไร ถ้าทาน ผลไม้จะเลี้ยงเฉพาะผลไม้กับขนม ถ้ากินหัวหมูก็เลี้ยงคล้ายๆ กับผีปู่ย่าทั่วๆ ไปเป็นประจำทุกปีและจะต้องเปลี่ยนขันครูทุกๆ ปี
กิจของผีเจ้านาย ขึ้นอยู่กับผีเจ้านายแต่ละองค์จะกำหนดว่า จะประทับทรง ทำกิจใดๆ บ้าง เช่น ถามการเจ็บไข้ หรือรักษาผู้ป่วย โดยมีค่าขันตั้งอาจจะ 12 บาท 36 บาท แล้วแต่ผีเจ้านาย ถ้าผีเจ้านาย มีลูกศิษย์มาก เมื่อถึงประเพณีเปลี่ยนขันครู อาจจะมีการฉลองขันครู การฟ้อน ผีเจ้านายนั้นจะทำก็ต่อเมื่อ
1. ประเพณีประจำปี 2. แก้บน
การฟ้อนผีเจ้านาย จะเรียกว่า “พิธียกขันครู” งานพิธีฟ้อนผีเจ้านาย มักจะทำ 2 วัน วันแรกเป็นวันจัดดา จะมี “ข่าว” หรือไม่ขึ้นอยู่กับผีเจ้านาย งานวันยกขันครูนั้น จะต้องหาวันที่ไม่ใช่วันเสียประจำเดือน
ไม่ใช่วันพุธ ไม่ใช่วันพระ มักจะเป็นวันข้างขึ้นมากกว่า  ผีเจ้านายจะหาฤกษ์งามยามดี “ปลดขันครู” คือ การนำขันตั้งหรือขันครูลงมา คือ เอาของเก่าทิ้ง จัดเตรียมของใหม่แทน
การจัดเตรียมเครื่องประกอบหรือเครื่องสักการะ ประกอบไปด้วย มะพร้าวติดเครือ กล้วยติดเครือ
เหล้าขาว สวยดอก สวยหมาก หมาก 1300 เบี้ย 1300 หมากขด ธูปเงิน ธูปทอง เทียนเงิน เทียนทอง
ช่อเงิน ช่อทอง ข้าวสาร ข้าวเปลือก ผ้าขาว ผ้าแดง เงิน เบี้ย ใบไม้มงคล ฯลฯ ตามแต่ผีเจ้านาย จะกำหนดให้เปลี่ยนขันตั้งแต่ละปี มักจะขึ้นตามลำดับขั้น คือ เครื่อง 12, 3 ปี เครื่อง 24, 3 ปี เครื่อง 36, 3 ปี หลังจากนั้นจะขึ้นขั้น 108 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ความสามารถ ความต้องการของผีเจ้านาย และความพร้อมหลายๆ อย่างตาม
ความเหมาะสม
การฟ้อนผีเจ้านาย จะสร้างปะรำ (ผาม) จะทำผามเปียง เหมือนปะรำผามผีมดหรือไม่ก็กางเต็นท์ เพื่อความสะดวก มักจะมีเสา 9 ต้น หรือ 12 ต้น ตามแต่พื้นที่ มักจะสร้างหิ้งเครื่องสักการะที่อยู่บนหิ้งมักจะเป็นเครื่อง 12 มีทั้งหมด 12 ขัน ประกอบด้วยสวยดอก 12 สายพลู 12 มะพร้าวติดเครือ กล้วยติดเครือ หมากสวย 1300 เหล้าขาว 1 ขวด ส่วนข้างนอกปะรำ (ผาม) จะตั้งโต๊ะเชิญเมืองหรือเชิญเทวดา บนโต๊ะมักจะปูผ้าสีขาว กางร่ม หรือสัปทน บนโต๊ะ
ประกอบด้วย หมอนอิง น้ำต้น น้ำมะพร้าว หมาก เมี่ยง บุหรี่
ดั้งนั้นข้อความที่กล่าวมาข้างต้นยังมีองค์ประกอบสำคัญอีกหลายอย่างที่อาจจะขาดตกบกพร่องไป ทางผู้นำเสนอจะหาข้อมูลเพื่อมานำเสนอให้ท่านได้รับรู้ความเป็นมาต่างๆของประเวณีฟ้อนผีเจ้านายในครั้งหน้าเพื่อเป็นความรู้ไว้ให้ศึกษาอณุรักษ์ประเพณีของชาวล้านนาสืบต่อไป
กฤติญา ผู้จัดทำ