วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

ฟ้อนผีเจ้านาย




การฟ้อนผีเจ้านาย หรือ ผีบ้านผีเมือง นี้คล้ายกับการ ฟ้อนผีมดผีเมง ทั้งการแต่งกายและดนตรี แต่จะไม่มีโหนผ้าเหมือน ผีเมง และไม่มีกิจกรรมการละเล่นเหมือนผีมด
สำหรับเครื่องสังเวยกับพิธีกรรมต่างๆ ก็คลาดเครื่องกันไปไม่มากนักการฟ้อนผีเจ้านาย เป็น การเลี้ยงผีหรือ ฟ้อนผีเพื่อสังเวยผีเทพหรือผีอารักษ์ซึ่งทำหน้าที่รักษาบ้าน เมือง มีประวัติความเป็นมาที่เก่งกล้า เช่น เจ้าพ่อประตูผาของลำปาง เจ้าหลังคำแดงของเชียงใหม่ ในการสังเวยผีดังกล่าวนี้จะกระทำที่
“ หอผี ” โดย ม้าขี่ หรือคนทรงจะนำเครื่องเซ่นต่างๆ ไปสังเวยแล้วจะเอาพานเครื่องคารวะไปเชิญเจ้าพ่อที่หอผีให้ประทับทรงจากนั้น คนทรงก็จะแต่งตัวตามแบบที่เจ้าพ่อชอบ ออกไปฟ้อนที่หน้าหอผี
เครื่องแต่งตัวที่จัดเตรียมไว้มีผ้าโสร่งสีต่างๆ ทั้งลายตาหมากรุกและผ้าพื้น เสื้อผ่าอกแขนยาว ผ้าคาดเอว ผ้าโพกศีรษะและผ้าคล้องคอสีต่างๆ ในขณะเดียวกัน คนทรงของเทพเจ้าต่างๆ ที่ได้รับเชิญมาร่วมพิธีก็จะแต่งตัวแล้วออกไปร่วมฟ้อน
โดยมีวงดนตรี กลองเต่งถิ้ง ประโคมเสียงสนั่น
การเข้ามาประทับทรง ของผีเจ้านายนั้นเกิดจากในอดีตผีเจ้านายเป็นบุคคลที่เคยทำคุณงามความดี ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองหรือเป็นผู้บุกเบิกตั้งรกราก เป็นทัพหน้านำรบ ออกศึก ป้องกันบ้านเมือง
เช่น เจ้าพ่อประตูผา เจ้าพ่อขุนตาล เป็นผีที่มีคุณงามความดี เป็นที่น่ายกย่อง แต่ขณะที่มีชีวิตได้ทำกรรมอนัตริยกรรม คือ การฆ่าคน ฆ่าชีวิต ที่ไม่อาจจะกำหนดได้ พอตายไปก็ต้องเป็นวิญญาณที่จะต้องอาศัยมนุษย์เป็นสื่อ ที่จะทำให้ตนหลุดพ้น จากบ่วงกรรมที่ ทำไว้ เมื่อประทับทรงแล้วก็ต้องเลือกเอาคนที่มีวันเดือนปีเกิดเดียวกัน เป็นบุคคลที่ถูกให้เป็นสื่อ การที่ผีเจ้านายจะเลือก เอาใครเป็นร่างทรงผีเจ้านายจะต้องดูว่าบุคคลนั้นยอมหรือไม่ ถ้าไม่ยอมก็จะทำให้ยอม โดยการทำให้บุคคลนั้นป่วย ไม่สบายมีอันเป็นไปต่างๆจนทำ ให้เชื่อว่าจะเอามาเป็นร่างทรง ด้วยวิธีการต่างๆ การที่ผีเจ้านาย เลือกใครเป็นร่างทรง แล้วยังได้รับการทดลองต่างๆ หลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนมากจะให้ร่างทรงเข้าวัดถือศีล ทำสมาธิ เป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อม อารี และที่สำคัญจะต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะไม่โกหกหลอกลวง
การที่ผีเจ้านายจะเลือกใครเป็นร่างทรงผู้นั้นในอดีตชาติ เคยผูกพันกันหรือเป็นรากขวัญของผีเจ้านายหรือขวัญเดียวกัน การยอมรับของบุคคลที่ถูกเลือกแล้วว่า จะเอาเป็น ร่างทรงนั้นจะต้องผ่าหลายขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทางเหนือมักจะมีผีบรรพบุรุษอยู่แล้วคือ ผีต้นตระกูลสายผีมด ผีเม็ง ผีมดซอนเม็ง ผีเจ้านายจะต้องมีวิธีทำความสัมพันธ์กับผีบรรพบุรุษผู้เป็นเจ้าของบุคคลนั้นด้วย วิธีการหาอะไร มาแทนหรือการเลี้ยงผีปู่ย่าก่อนที่จะเอา บุคคลในตระกูลเป็นร่างทรง หรือวิธีอื่น เช่น ทอดผ้าป่าให้ผีปู่ย่า หรือวิธีอื่นๆ ต่างๆ ที่ผีบรรพบุรุษจะเจรจากับผีเจ้านาย
การที่บุคคลที่จะถูกคัดเลือกแล้วไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายจะถูกกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ที่ผีเจ้านายจะประทับ ทรง แต่จะออกมาในรูปของการเข้าฝันบอกให้ทำอะไรก่อนประทับทรง เดือน ปี
(ในบางราย) ก่อนจะรับเป็นร่างทรง อันดับแรกจะต้องรับขัน 3 ก่อน อันหมายถึง ไตรสรณะคมการสักการะคุณพระรัตนตรัย จากนั้นก็รับขัน 5 หมายถึง การสักการะบูชาคุณทั้ง 5 อันมี พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ คุณบิดาคุณมารดา หลังจากขึ้นขัน 3 และขัน 5 แล้ว บางรายอาจจะให้รักษาศีล ภาวนา ตามแต่เจตนาของผีเจ้านาย หลังจากรับขันได้พอประมาณจนกว่าผีเจ้านาย จะพอใจจนได้เวลากำหนดจึง รับขัน 12 ผีเจ้านายจะเป็นผู้บอกให้เลี้ยงผีครู หรือการเลี้ยงประจำปี (ประเพณี) เช่น อาจจะเป็นเดือน 6 เหนือ หรือ เดือน 9 เหนือ แล้วแต่เจ้านายจะกำหนดของเซ่นไหว้ขึ้นอยู่กับเจ้านายจะสังเวยอะไร ถ้าทาน ผลไม้จะเลี้ยงเฉพาะผลไม้กับขนม ถ้ากินหัวหมูก็เลี้ยงคล้ายๆ กับผีปู่ย่าทั่วๆ ไปเป็นประจำทุกปีและจะต้องเปลี่ยนขันครูทุกๆ ปี
กิจของผีเจ้านาย ขึ้นอยู่กับผีเจ้านายแต่ละองค์จะกำหนดว่า จะประทับทรง ทำกิจใดๆ บ้าง เช่น ถามการเจ็บไข้ หรือรักษาผู้ป่วย โดยมีค่าขันตั้งอาจจะ 12 บาท 36 บาท แล้วแต่ผีเจ้านาย ถ้าผีเจ้านาย มีลูกศิษย์มาก เมื่อถึงประเพณีเปลี่ยนขันครู อาจจะมีการฉลองขันครู การฟ้อน ผีเจ้านายนั้นจะทำก็ต่อเมื่อ
1. ประเพณีประจำปี 2. แก้บน
การฟ้อนผีเจ้านาย จะเรียกว่า “พิธียกขันครู” งานพิธีฟ้อนผีเจ้านาย มักจะทำ 2 วัน วันแรกเป็นวันจัดดา จะมี “ข่าว” หรือไม่ขึ้นอยู่กับผีเจ้านาย งานวันยกขันครูนั้น จะต้องหาวันที่ไม่ใช่วันเสียประจำเดือน
ไม่ใช่วันพุธ ไม่ใช่วันพระ มักจะเป็นวันข้างขึ้นมากกว่า  ผีเจ้านายจะหาฤกษ์งามยามดี “ปลดขันครู” คือ การนำขันตั้งหรือขันครูลงมา คือ เอาของเก่าทิ้ง จัดเตรียมของใหม่แทน
การจัดเตรียมเครื่องประกอบหรือเครื่องสักการะ ประกอบไปด้วย มะพร้าวติดเครือ กล้วยติดเครือ
เหล้าขาว สวยดอก สวยหมาก หมาก 1300 เบี้ย 1300 หมากขด ธูปเงิน ธูปทอง เทียนเงิน เทียนทอง
ช่อเงิน ช่อทอง ข้าวสาร ข้าวเปลือก ผ้าขาว ผ้าแดง เงิน เบี้ย ใบไม้มงคล ฯลฯ ตามแต่ผีเจ้านาย จะกำหนดให้เปลี่ยนขันตั้งแต่ละปี มักจะขึ้นตามลำดับขั้น คือ เครื่อง 12, 3 ปี เครื่อง 24, 3 ปี เครื่อง 36, 3 ปี หลังจากนั้นจะขึ้นขั้น 108 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ความสามารถ ความต้องการของผีเจ้านาย และความพร้อมหลายๆ อย่างตาม
ความเหมาะสม
การฟ้อนผีเจ้านาย จะสร้างปะรำ (ผาม) จะทำผามเปียง เหมือนปะรำผามผีมดหรือไม่ก็กางเต็นท์ เพื่อความสะดวก มักจะมีเสา 9 ต้น หรือ 12 ต้น ตามแต่พื้นที่ มักจะสร้างหิ้งเครื่องสักการะที่อยู่บนหิ้งมักจะเป็นเครื่อง 12 มีทั้งหมด 12 ขัน ประกอบด้วยสวยดอก 12 สายพลู 12 มะพร้าวติดเครือ กล้วยติดเครือ หมากสวย 1300 เหล้าขาว 1 ขวด ส่วนข้างนอกปะรำ (ผาม) จะตั้งโต๊ะเชิญเมืองหรือเชิญเทวดา บนโต๊ะมักจะปูผ้าสีขาว กางร่ม หรือสัปทน บนโต๊ะ
ประกอบด้วย หมอนอิง น้ำต้น น้ำมะพร้าว หมาก เมี่ยง บุหรี่
ดั้งนั้นข้อความที่กล่าวมาข้างต้นยังมีองค์ประกอบสำคัญอีกหลายอย่างที่อาจจะขาดตกบกพร่องไป ทางผู้นำเสนอจะหาข้อมูลเพื่อมานำเสนอให้ท่านได้รับรู้ความเป็นมาต่างๆของประเวณีฟ้อนผีเจ้านายในครั้งหน้าเพื่อเป็นความรู้ไว้ให้ศึกษาอณุรักษ์ประเพณีของชาวล้านนาสืบต่อไป
กฤติญา ผู้จัดทำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น